วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Evo VII-VIII-IX ที่ใครๆก็คิดว่าแค่ Cedia

Evolution VII

ผลิตขึ้นในปี 2001 จำนวน ตัวถังรหัส CT9A รุ่นที่ผลิต GSR , RS , GTA
บอดี้
ได้รับการพัฒนามาจาก Mitsubishi รุ่น CEDIA ในบ้านเรา ปรับปรุงด้านความแข็งแรงในส่วนต่างๆให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง ซุ้มช็อคหน้า – หลัง คานหน้า เสาประตู จุดยึดช่วงล่าง และคานป้องกันการบิดตัวต่างๆ เพื่อรับมือกับแรงม้า และแรงบิด ที่มากขึ้น บอดี้มีความยาว 4,455 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,450 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,625 มิลลิเมตร กันชนหน้าแบบช่องระบายความร้อนอินเตอร์คูเลอร์ กระจังหน้าแบบเปิดกว้าง นอกจากนี้ยังมีการลดน้ำหนักตัวถัง ด้วยการเปลี่ยนกระจกหน้าให้บางลงอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ฝากระโปรงหน้า และแก้มหน้าเป็นอะลูมิเนียม ในรุ่น GSR มีน้ำหนักรวมอยู่ที่ 1,400 กิโลกรัม
เครื่องยนต์
ยังยืนหยัดกับ 4G63 ครั้งนี้ ทาง Mitsubishi ได้ทำการเพิ่มเติมเสริมความแรงจาก Evo VI ( 6.5 ) รุ่น Tommi Makinen ด้วยการเปลี่ยนเทอร์โบใหม่ให้มีค่า A/R ไอเสียให้น้อยลง และโข่งหลังแบบ 2 NOZZLE ปรับปรุงท่อไอดี และพอร์ตไอดีให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ในรุ่น TD05 HR-16G 6-9.8T ส่วนในรุ่น RS ยังคงใช้แบบเทอร์โบแบบไททาเนี่ยมรุ่น TD05 HRA-16G 6-9.8T เฮดเดอร์ไอเสียให้มีความโค้งน้อยลงช่วยลดแรงดันไอเสียย้อนกลับ แคมชาฟท์รุ่นใหม่แบบภายในกลวง ลดภาระการทำงานให้กับเครื่องยนต์ และ Rocker Cover แบบ Magnesium ป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฝาสูบในรอบสูง ขยายอินเตอร์คูเลอร์ขนาดกว้างขึ้นอีก 20 มม. เปลี่ยนท่ออินเตอร์เป็นแบบอลูมิเนียม หัวฉีดน้ำอินเตอร์จาก 2 หัวเป็น 3 หัว และออยล์คูลเลอร์ให้กว้างขึ้นอีก 30 มม. ป้องกันปัญหาเรื่องความร้อนได้อย่างเห็นผล และทำให้เครื่องยนต์มีแรงบิดมากกว่าเดิมจาก 38.0 กก.-ม. เป็น 39.0 กก.-ม ที่ 3,500 รอบต่อนาที
ช่วงล่าง
เพิ่มเทคโนโลยี ACD หรือ ACTIVE CENTER DIFFERENTIAL ทำหน้าที่กระจายแรงบิดระหว่างล้อหน้า และหลังให้สมดุลกัน ที่จะทำงานร่วมกันกับ AYC เพื่อให้เกิดการตอบสนองกับพวงมาลัยให้มากที่สุด ระบบเบรกแบบ ABS + ESB ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์คำนวณแรง G แล้วสั่งการห้ามล้อให้เหมาะสมกับสภาพถนน และใน Evo 7 ได้รับการพัฒนาระบบเกียรให้มีอัตราทดที่จัดจ้านขึ้น แบบ SUPER CLOSE RATIO แบบ 5 จังหวะในรุ่น W5M51 และเกียรออโตเมตริกแบบ INVECS – II ในรุ่น GTA ซึ่งถือเป็น Evo สายพันธ์แรกที่เป็นเกียรออโต้ ช่วงล่างแบบปีกนกอลูมิเนียม โดยขยายฐานล้อขึ้นอีก 15 มม. ทั้งหน้าและหลัง เพิ่มช่วงชักช็อคหน้าอีก 15 มม. พร้อมดิสเบรกของ BREMBRO ทั้ง 4 ล้อ


Evolution VIII

ผลิตขึ้นในปี 2003 รหัสตัวถัง CT9A รุ่นที่ผลิต GSR , RS , MR ( Mitsubishi Racing )
บอดี้
ปรับปรุงจาก Evo 7 เพียงเล็กน้อย เช่นกันชนหน้าที่มีโลโก้ตรงกลางเป็นทรง V Shape Nose กันชนข้างมีครีบช่วยรีดอากาศออกด้านข้างตัวรถ และแผ่นปิดบังลมใต้ห้องเครื่อง ที่จะทำให้ลดค่าแรงเสียดทานอากาศ รวมทั้งกระแสลมหมุนเวียนใต้ท้องรถ และช่วยระบายความร้อนให้กับอินเตอร์คูเลอร์ได้มากขึ้น หลังคาในรุ่น MR จะเป็นอลูมิเนียม ช่วยลดน้ำหนัก และลดแรงเหวี่ยงในขณะเข้าโค้ง พร้อมครีบจัดเรียงอากาศ Blowtec Generator เป็นครีบปลาฉลาม 8 ตัวท้ายหลังคาช่วยลดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศจาก 0.36 เป็น 0.355 สปอยเลอร์หลังทำจากพลาสติก ผสมคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบา และแข็งแรงมากขึ้น คานกันกระแทกในประตูเปลี่ยนเป็นแบบอลูมิเนียม มิติตัวถังมีความยาว 4,490 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,450 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,625 มิลลิเมตร เท่ากับ Evo 7 แม้จะมีอุปกรณ์เพิ่มขึ้นมากแต่น้ำหนักตัวมากขึ้นเพียง 70 กิโลกรัม เป็น 1,470 กิโลกรัมเท่านั้น
เครื่องยนต์
ปรับปรุงให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นอีก โดยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดจะมารวมอยู่ในรุ่น MR ( Mitsubishi Racing )ด้วยลูกสูปฟอร์จจากโรงงาน แหวนลูกสูบเคลือบ Ion Coat ลดแรงเสียดทานภายในกระบอกสูบ เสริมปะเก็นเหล็กฝาสูบให้หนาขึ้นจาก 3 ชั้นเป็น 5 ชั้น เพิ่มบูชให้เพิ่มขึ้นเป็น 19 ปอนด์จากโรงงานในช่วง High Boot เพิ่มองศาแคมชาฟท์ไอดีให้สูงขึ้น สปริงวาล์วน้ำหนักเบาลงเพื่อลดภาระการทำงานของเครื่องยนต์ เฮดเดอร์ไอเสียท่อไอเสียแบบโล่ง และลื่นขึ้น ทำให้แรงบิดของเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 40.8 กก.- ม ที่รอบเท่าเดิม
ช่วงล่าง
ระบบ AYC ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเรียกว่าระบบ Supper AYC ทำงานร่วมกับ ACD ปรับปรุงจุดยึดต่างๆของช่วงล่าง และช็อคอัพหน้า – หลัง เปลี่ยนเป็นของ BILSTEIN ปรับความแข็งอ่อนได้ นุ่มนวล และเกาะถนน ระบบการเข้าเกียรจากขาคันชัก เป็นสายเคเบิล เข้าเกียรได้กระชับ และแม่นยำขึ้น เกียรใน Evo8 มีให้เลือกทั้งในรุ่น 5 Speed และ 6 Speed พร้อมล้อของ BBS ขอบ 17 นิ้วกับยาง 235/45ZR17

Evolution IX

ผลิตขึ้นในปี 2006 รหัสตัวถัง GH-CT9A รุ่นที่ผลิต GSR , RS , GT , MR
บอดี้
กันชนหน้าถูกปรับเปลี่ยนใหม่จาก Evo 8 ที่มีจมูกเป็นแบบกระจังหน้าเปิดกว้าง ช่องรับลมที่กว้างขึ้น พร้อมช่องไฟสปอร์ตไลท์ ทำหน้าที่รับลมมาระบายความร้อนอินเตอร์คูเลอร์ กันชนหลังปาดท้ายแบบ Difuser เพื่อรีดลมหมุนวนด้านท้ายรถ ลดแรงดึงของลมที่จะทำให้รถวิ่งช้าลง สปอยเลอร์หลังเป็นแบบเดียวกับ Evo 8 MR มิติตัวถังรถ กว้าง 1,770 มม. กว้าง 4,490 มม. ยาว 1,450 มม. ระยะฐานล้อ 1,515 มม. ทั้งหน้า – หลัง น้ำหนักตัวในรุ่น GSR หนัก 1,410 กก. และในรุ่น RS เพียง 1,320 กก. ภายในของ Evo XI มีลักษณะเด่นกว่ารุ่นอื่นๆ ด้วยแผงหน้าปัด คอนโซล เน้นสีเทาดำลายเคฟล่า เบาะเป็นของ RECARO แบบ Bucket Seat กำมะหยี่สลับหนัง Alcantara เพิ่มความกระชับตัวผู้ขับขี่
เครื่องยนต์
รหัส 4G63 ด้วยระยะช่วงชัก กำลังอัดเท่าเดิม 8.8:1 แต่ได้เพิ่มเทคโนโลยีใหม่ฝาสูบอัจฉริยะ MIVEC หรือ Mitsubishi Innovative Valve Timing Electronic Control System เป็นกลไกลในการปรับจังหวะ Overlap หรือจังหวะที่วาล์วไอดี และไอเสียเปิดพร้อมกันในจังหวะคาย ซึ่งในอุดมคติถ้าจังหวะ Overlap มากหรือ วาล์วไอดี-ไอเสียเปิดพร้อมกันอยู่มาก จะทำให้ไอดีเย็น เข้ามาไล่ไอเสียอากาศร้อนได้มาก เครื่องจึงมีการเผาไหม้ได้สมบรูณ์มากกว่าได้กำลังเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงรอบต่ำถ้า Overlap มาก เครื่องจะเดินเบาไม่นิ่งเพราะเกิดการสูญเสียกำลัง กลไกล MIVEC จะทำการปรับ Relard ให้จังหวะ Overlap น้อยลง (วาวล์ไอดี และวาวล์ไอเสียเปิดพร้อมกันเร็วขึ้น ) พอรอบสูงก็ปรับ Ovrelap ให้สูงขึ้น เครื่องจึงมีอัตราเร่งดีทั้งในรอบต่ำและรอบสูง เทอร์โบยังคงใช้ แบบไททาเนียมผสมอัลลอย โดยขนาดของโข่งหน้าให้ใหญ่ขึ้นอีก ในรุ่น TD05 HR-16G-C 10.5T ส่วนรุ่น RS จะใช้เทอร์โบแบบไททาเนียมรุ่น TD05 HRA-16 G-10.5T ทำให้แรงบิดเพิ่มขึ้นเป็น 41.5 กก.- ม. แต่แรงม้ายังคงยันเพดานบินที่ 280 แรงม้าที่ 6,500 รอบต่อนาที
ช่วงล่าง
พัฒนา Super AYC และ ACD ให้ทำงานได้สัมพันธ์กันมากขึ้น ช่วงล่างอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทด้านหน้า และ มัลติลิงค์อิสระด้านหลัง ช็อคอัพของ BILSRTIEN และระบบเบรค BREMBO ทั้ง 4 ล้อ พร้อมระบบ ABS ส่งผ่านเกียรอัตตราทดชิด มีให้เลือกทั้ง 5 จังหวะ และ 6 จังหวะ ล้อแม็คขนาด 17 นิ้วของ ENKEI กว้าง 8 นิ้ว พร้อมยาง 235/45ZR17 ทำให้ความเร็วตีนปลายของ Evo 9 ทำได้ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างสบายๆ

Evo IV-V-VI ที่ใครๆก็คิดว่าแค่ Ck

Evolution IV

ผลิตขึ้นในปี 1996 ใช้รหัสตัวถังว่า CN9A จำนวนที่ผลิต 12,000 คัน
บอดี้
เป็นการเปลี่ยนตัวถัง และโครงสร้างบอดี้ใหม่ทั้งหมด ใช้พื้นฐานมาจากรถตลาด CK2 หรือที่เรียกกันว่า Mitsubishi ท้ายเบนซ์ โครงสร้างของตัวถังมีความแข็งแรงกว่า ด้วยการเพิ่มจุด Sport หรือจุดเชื่อมต่อให้มากขึ้นกว่าเดิม เสริมโครงสร้างต่างๆเพื่อความแข็งแรง เพื่อการรับแรงบิด และแรงม้าที่เพิ่มขึ้นของเครื่องยนต์ กันชนหน้าทรงแข่งเพิ่มสปอร์ตไลท์ไฟตัดหมอกขนาดใหญ่ ช่องระบายความร้อนอินเตอร์คูเลอร์ เสกิตร์ข้าง และสปอยเลอร์หลังทรงสูงแบบมีเสากลาง เพื่อเพิ่มแรงกดอากาศที่ความเร็วสูง ตัวถังมีความยาว 4,330 มิลิเมตร กว้าง 1,415 มิลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,510 มิลิเมตร น้ำหนักรวม 1,350 กิโลกรัม ภายในใช้เบาะทรงแข่งจาก RECARO SR SERIES ลายอิฐสีแดงเข้มสลับดำ หน้าปัดรุ่นใหม่จอขาว ด้ามเกียรควิกชิพจากโรงงาน กับพวงมาลัยทรง 3 ก้านพร้อมถุงลมนิรภัย

เครื่องยนต์ใช้รหัสเดิม 4G63T แต่ได้เปลี่ยนพื้นฐานของเครื่องเดิมใน Evo3 ใหม่ทั้งหมดเป็นเครื่องฝาแดงหลังกลับ โดยเปลี่ยนตำแหน่งเครื่องยนต์ ให้ด้านหน้าเครื่องอยู่ด้านเดียวกับคนขับ มีผลช่วยในการบาลานซ์น้ำหนัก และการควบคุมรถได้ดีกว่าเดิม เครื่องยนต์ขนาด 1,997 ซีซี ความกว้าง x ช่วงชัก 85.0 x 88.0 อัตตราส่วนกำลังอัด 8.8 : 1 เทอร์โบใช้รหัส TD05 HR-16G6-9T ขนาดโตกว่า Evo3 มากแบบเวสเกต 2 ลิ้น มี ONE WAY VALE คายไอดีต่อมาปั่นกังหันไอเสีย ช่วยลดการรอรอบเทอร์โบระหว่างถอนคันเร่ง เพิ่มหัวฉีดน้ำอินเตอร์คูลเลอร์ระบายความร้อน ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ถูกเปลี่ยนใหม่หมด ใช้คอล์ยจุดระเบิดแบบแยกแต่ละหัวเทียน หัวฉีดขนาด 510 ซีซี ทำให้มีแรงม้าแบบเกือบทะลุเพดานกฎหมายญี่ปุ่นที่ 280 แรงม้าที่ 6,500 รอบต่อนาที และแรงบิดที่ 36 กก.ม ที่ 3,000 รอบต่อนาที
ช่วงล่างระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Full Time เฟืองท้ายหลังได้เพิ่มระบบ AYC หรือระบบ Active Yaw Control เป็นฟันเฟืองพิเศษที่ช่วยในการกระจายแรงขับเคลื่อนให้เท่ากันทุกล้อ แม้ในขณะเข้าโค้ง และระบบกระจายแรงบิด HELICAL GEAR ลิมิเต็ด สลิปที่เพลาหน้าเป็นครั้งแรกในโลก ส่งผ่านเกียรธรรมดา 5 เกียร ทั้งในรุ่น GSR และ RS อัตราทดเฟืองท้าย 4.529 ช่างล่างหน้าแบบ MacPherson Struts และด้านหลังแบบ Multi-Link หยุดแรงม้าด้วยระบบดิสเบรคหน้า 2 port และดิสเบรกหลัง เปลี่ยนน็อตล้อแบบ Evo1- 3 จาก 4 รู 114.3 เป็น 5 รู 114.3 ล้อเป็นของ OZ ขนาด 16 นิ้วกับยางขนาด 205-55R16 ทั้ง 4 เส้น

Evolution V

ผลิตขึ้นในปี 1996 ใช้รหัสตัวถังว่า CP9A จำนวนที่ผลิต 6,000 คัน
บอดี้
เปลี่ยนชุดกันชนหน้าให้ช่องรับลมระบายความร้อนอินเตอร์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โป่งล้อที่มีขนาดกว้างขึ้น เปลี่ยนสปอยเลอร์หลังทรงสามเหลียมแบบไม่มีเสากลาง และแผ่นกดอากาศซึ่งสามารถปรับความลดเอียงได้ 4 ระดับเพื่อเพิ่มแรง Down Force ได้มากขึ้น เพิ่มความยาวตัวถังขึ้นอีก 20 มิลิเมตร เป็น 4,350 มิลิเมตร เพิ่มความกว้างเป็น 1,770 มิลิเมตร กับความสูง 1,415 มิลิเมตร ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นกว่า Evo 4 อีก 10 กิโลกรัม เป็น 1,360 กิโลกรัม ภายในยังคงใช้รูปแบบเดียวกับ Evo4 แต่เปลี่ยนโทนสีเสียใหม่เป็นสีเทาดำ กับเบาะของ RECARO รุ่นใหม่ในตระกูล SR SERIES
เครื่องยนต์
ยังคงใช้เครื่องในบล็อกเดิมกับ Evo4 ปรับปรุงระบบภายในให้ลูกสูบมีน้ำหนักเบา และแข็งแรงขึ้น เปลี่ยนเทอร์โบมาใช้รหัส TD05HR-16G6-10.5 ขนาดฐานใบที่ 56 มิลเท่ากับ Evo4 แต่เพิ่มค่า A/R จาก 8.15/8.38 เป็น 9.58/9.45 และได้เพิ่มขนาดหัวฉีดอีก 40 ซีซี เป็น 550 ซีซี รวมถึงเพิ่มกำลังอัดของเครื่องยนต์จาก 8.8:1 เป็น 9.0:1 ทำให้เครื่องยนต์ของ Evo 5 มีแรงบิดเพิ่มขึ้นเป็น 38 กก.ม ที่ 3,000 รอบต่อนาที
ช่วงล่าง
ปรับเปลี่ยนความแข็งอ่อนของสปริง และโช๊คอัพให้มีความเกาะถนนเพิ่มขึ้น จุดยึดระบบปีกนก กันโคลง และมุมล้อใหม่หมดทำให้เข้าโค้งได้ดีขึ้น ขยายฐานล้อให้กว้างขึ้นอีก 35 มิลลิเมตร และระบบเบรกของ BREMBO ทั้ง 4 ล้อเป็นระบบเบรกมาตรฐาน เปลี่ยนล้อ และยางให้ใหญ่ขึ้นเป็นขนาด 17 นิ้ว กับยางขนาด 225/45ZR17 เพิ่มความยึดเกาะถนนได้ดีกว่า Evo4 เป็นอย่างมาก

Evolution VI


ผลิตขึ้นในปี 1998 ใช้รหัสตัวถัง CP9A จำนวนที่ผลิต 5,000 คัน
บอดี้
เปลี่ยนกันชนหน้าใหม่ให้มีช่องระบายความร้อนอินเตอร์ให้มีขนาดกว้างขึ้น ย้ายไฟตัดหมอกให้อยู่ด้านข้างของกันชน และขนาดเล็กลง โป่งซุ้มล้อที่มีขนาดกว้างขึ้น และสปอยเลอร์หลังให้เล็กลง ตามกฎการแข่งขัน FIA แต่ทำเป็นปีก 2 ชั้นยกระดับขึ้นจากฝากระโปรงท้าย เพื่อเพิ่มแรงกดอากาศให้กับท้ายรถได้มากขึ้น และปีกบนที่สามารถปรับระดับได้ ภายในเปลี่ยนโทนสีเบาะ และแผงข้างเสียใหม่ ให้เป็นโทนสีน้ำเงินดูสวยงามขึ้น และเนื้อผ้าแบบไม่ลื่นช่วยให้นั่งกระชับยิ่งขึ้น หน้าปัดเรือนไมล์เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ากันกับตัวเบาะ และภายใน
เครื่องยนต์
พัฒนาระบบภายในเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์มากกว่า Evo4 และ Evo5 จากปัญหาลูกสูปละลาย ปรับปรุงระบบระบายความร้อนให้กับลูกสูบ โดยเพิ่ม Oil Jet Spray ให้กับลูกสูบ เปลี่ยนวัสดุลูกสูบให้แข็งแรง และน้ำหนักเบาขึ้นอีก 7 เปอร์เซ็นต์ เทอร์โบในรุ่น GSR ใช้ TD05HR-16G6-10.5T แต่ในรุ่น RS จะใช้เทอร์โบ TD05HRA-16G-10.5T ที่แกนเทอร์โบด้านไอเสียเทอร์ไบน์ ใช้วัสดุไททาเนี่ยมผสมอัลลอย มีน้ำหนักเบากว่าเทอร์โบรุ่นธรรมดาถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ลดอาการ Turbo lag ได้มากขึ้น เพิ่มระบบ ALS หรือ Anti lag System หรือระบบหน่วงรอบเครื่อง ในขณะถอนคันเร่ง ป้องกันอาการบูชเทอร์โบตก ระบบน้ำฉีดอินเตอร์ และหม้อน้ำช่วยระบายความร้อน ทำให้เครื่องยนต์ของ Evo6 มีพลัง 280 แรงม้าที่ 6,500 รอบต่อนาที แต่แรงบิดเครื่องยนต์ยังคงเท่าเดิม 38 กก.ม ที่ 3,000 รอบต่อนาที
ช่วงล่าง
พัฒนาต่อจาก Evo5 อย่างมากมาย ด้วยการเปลี่ยนปีกนกล่างทั้งหมด เป็นอะลูมิเนียม ช่วยลดน้ำหนักให้กับช่วงล่าง เป็นผลให้จุดรับน้ำหนักตัวถังสมดุล และนุ่มนวลขึ้น บูชยางต่างๆใช้เป็นแบบ Pillow Ball รวมถึงลูกหมากปีกนกทั้งหมดแบบ Ball Joint จุดยึดปีกนกต่างๆเลื่อนต่ำลง เพื่อการตอบสนองความรู้สึกได้ดีทุกสภาพผิวถนน พัฒนาระบบ AYC ให้สมบูรณ์ แม่นยำ และทนทานขึ้น ระบบเบรกยังคงใช้เช่นเดียวกับ Evo5 เปลี่ยนลายล้อแม็คเป็นลาย 15 ก้านของ OZ กับยางขนาด 225/45ZR17

Evolution VI TME

เป็น Evo6 ที่ผลิตขึ้นมาเป็นรุ่นพิเศษ ในปี1999 จำนวนที่ผลิต 2,500 คัน

Evo6.5 นี้ใช้ชื่อว่า TOMMI MAKINEN LIMITED EDITION เป็นรุ่นที่ผลิตมาเพื่อไว้อาลัย อดีตนักแข่งแชมป์โลกทีม Mitsubishi TOMMI MAKINEN ที่ได้วางพวงมาลัย ลาสังเวียนแรลลี่ หลังแข่งขันจบฤดูการนี้ โดยได้รับการพัฒนามาจาก Evo6 รุ่น RS ด้วยการเปลี่ยนแปลงกันชนหน้าให้สวยงามดุดันขึ้น ตัดไฟตัดหมอกออกไป สติกเกอร์รอบคัน ล้อแม็คเปลี่ยนเป็นสีขาวของ OZ ภายในเบาะใช้เป็นทรงเดียวกับ Evo6 ของ RECARO ในรุ่น SR SERIERS สีแดงตัดดำ ตรงกลางเบาะปักตัวอักษร TOMMI MAKINEN และแผงข้างลายเดียวกัน ลดขนาดความสูงของตัวถังลงอีก 10 มิลิเมตร ช่วยในการเกาะถนนมากขึ้น ระบบเบรกของ BREMBO ที่มีขนาดโตขึ้นกว่าเดิม และปรับปรุงเครื่องยนต์อีกนิดหน่อยมีแรงม้าเท่าเดิมที่ 280 แรงม้า แต่แรงบิดดีในรอบต่ำลงที่ 38 กก.เมตรที่ 2,750 รอบต่อนาที

Evo I-II-III ที่ใครๆก็คิดว่าแค่ E-Car

Evolution I

ผลิตขึ้นในปี 1992 ใช้รหัสตัวถังว่า CD 9A ถือว่าเป็น Evolution ตัวแรกในสายการผลิต
บอดี้
ได้รับการพัฒนามาจาก Mitsubishi Lancer ให้มีความแข็งแรงสูงกว่า โดยการเพิ่มจุดเชื่อม Sport ให้มากกว่า เสริมแผ่นเหล็กยึดตัวถังเพิ่มขึ้นหลายจุด เพื่อรองรับแรงกระแทก แรงบิดของเครื่องยนต์ที่แรงขึ้น การบิดตัวของตัวถังรถ และระบบส่งกำลังแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้านหน้าเพิ่มกันชนสปอยเลอร์ ที่มีช่องรับลมละบายความร้อนอินเตอร์ และช่องรับลมระบายความร้อนดิสเบรกหน้า ฝากระโปรงหน้าแบบมีช่องระบายอากาศ และสปอยเลอร์หลังทรงสูงแบบชั้นเดียวเพิ่มแรงกดของอากาศ

เครื่องยนต์
รหัส 4G63T ฝาเทาหรือที่เรียกกันว่าฝากระปิ ได้รับการพัฒนามาจาก Galant VR4 ตัวสุดท้าย ให้มีแรงม้าเพิ่มขี้นจาก 240 แรงม้า โดยมีการปรับปรุงอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ กล่องและแอร์โฟว์ ย้ายคอยล์จุดระเบิดไว้ด้านบนคอไอดี และเทอร์โบมาใช้รหัส TD05H-16G-7 ทำให้มีพลัง 250 แรงม้าที่ 6,000 รอบ / นาที แรงบิดสูงสุด 31.5 kg-m ที่ 3,000 รอบ / นาที

ช่วงล่าง
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Full Timeได้รับการพัฒนามาจาก VR4 อีกเช่นกันโดยมีอัตราทดเฟืองท้าย 4.376 ระบบรับแรงสั่นสะเทือนแบบแม็คเฟอร์สันสตรัทหน้า และ เทรลลิ่งอาร์ม มัลติลิงค์ กับจานดิสเบรกหน้าขนาดใหญ่ แม่ปั้ม 2 port หน้า และดิสเบรกหลัง


Evolution II

ผลิตขึ้นในปี 1993 ใช้รหัสตัวถัง CE 9A
บอดี้
พัฒนาต่อเนื่องมาจาก Evolution ฝากระโปรงหน้าแบบมีช่องระบายความร้อนแบบเดียวกับ Evo I กันชนหน้าคล้ายกับ Evo I แต่ช่องระบายความร้อนอินเตอร์คูเลอร์ และช่องลมเป่าดิสเบรกหน้า มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย และสปอยเลอร์ท้ายแบบทรงสูงเหมือน Evo I แต่ได้เพิ่มชิ้นล่างเป็นสองชั้น เพิ่มแรงกดอากาศเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
เครื่องยนต์
รหัส 4G63T เหมือนกับ Evo I ต่างกันที่เครื่องรุ่นนี้จะใช้น็อตตัวผู้ยึดกับตัวฝาสูป แต่ Evo I และ VR 4 จะมีน็อตตัวผู้โผล่ออกมาแล้วใช้น็อตตัวเมียยึด เปลี่ยนแปลงอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์อีกนิดหน่อย ขยายท่อไอเสียให้ใหญ่ขึ้น และเพิ่มแรงดันเทอร์โบให้สูงขึ้นจนมีพลังอยู่ที่ 260 แรงม้าที่ 6,000 รอบ / นาที และแรงบิด 31.5 kg-m ที่ 3,000 รอบต่อนาที
ช่วงล่าง
ได้รับการปรับปรุงจาก Evo I ให้ฐานล้อมีขนาดกว้างขึ้นอีก 10 มม. เปลี่ยนบูชยาง เหล็กกันโคลง ช็อคอัพและสปริงให้ใหญ่ขึ้น รวมถึงดิสเบรกหน้าหลังที่ขนาดโตขึ้น ล้อ – ยางของ OZ ขนาด 15 นิ้ว และยาง 205 / 60R15 เพิ่มการเกาะถนนได้อีกมาก


Evolution III

ผลิตขึ้นในปี 1995 ใช้รหัสตัวถังว่า CE 9A ถือเป็น Evo ตัวสุดท้ายในบอดี้นี้
บอดี้
มีการเปลี่ยนแปลงกันชนหน้าให้มีขนาดใหญ่ สวยงามและดุดันขึ้น มีสเกิตบันไดข้างที่มีสัญลักษณ์ว่า Evolution III และสปอยเลอร์หลังทรงสูง และเพิ่มความแข็งแรงโดยมีค้ำกลางช่วยตัดอากาศ และกันชนท้ายที่มีครีบจัดเรียงอากาศ ช่วยให้สวยงามและแกะถนนเพิ่มขึ้นที่ความเร็วสูง
เครื่องยนต์
รหัส 4G63T ที่พัฒนาเพิ่มม้าขึ้นอีก 10 ตัว โดยการเปลี่ยนเทอร์โบขนาดโตรหัส TD05H-16G-7 เพิ่ม ONE WAY VALE ด้านหลังคอไอดี ทำให้มีแรงม้า 270 ตัวที่ 6,250 รอบ / นาที และแรงบิดสูงสุดที่ 31.5 kg-m ที่ 3,000 รอบ / นาที
ช่วงล่าง
เป็นลักษณะเดียวกันกับ Evo II ด้วยช่วงล่างและระบบเบรกที่เท่ากัน ทำให้ Evo II และ Evo III มีสมรรถนะสูงกว่า Evo I อยู่มาก

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประวัติของ อัศวินแห่งรถแข่งขัน ทั้งทางเรียบและทางฝุ่น

    เริ่มตำนานในราวปี 1962 เมื่อทาง Mitsubishi Motor Corporation สนใจนำรถเข้าร่วมการแข่งขัน Rally ที่มีชื่อว่า WRC หรือ World Rally Championship ซึ่งได้จัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อค้นคว้า และ หาเทคนิคต่างๆ มาพัฒนาทีมรถแข่งของ Mitsubishi โดยเฉพาะชื่อว่า RALLI ART ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้


    ในสมัยแรก RALLI ART ได้นำรถ Mitsubishi Model 500 ออกมาเข้าร่วมแข่งขันด้วยเครื่องยนต์ 493 ซีซี 21 แรงม้า ถือเป็นการเริ่มต้นการแข่งขันจนถึงยุคปี 1973 ซึ่งทาง RALLI ART ก็ได้เปิดต้นกำเนิดรถยนต์ตระกูล Lancer ด้วย Lancer1600 GSR ที่บ้านเราพอจะเห็นๆวิ่งกันอยู่ที่เรียกกันว่า แลนเซอร์ไฟนอน ไฟแอล นั่นหละครับ และรุ่นนี้ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับทีม Mitsubishi โดยได้เป็นแชมป์โลกติดต่อกันหลายต่อหลายปี จนมาถึงยุคปี 80 ทาง Mitsubishi ก็ได้เปิดตัวสายพันธ์แรลลี่ขึ้นมาใหม่อีกตัวหนึ่งคือ Lancer EX 2000 turbo หรือเจ้ากล่องไม้ขีด และถือเป็นการกำเนิดตำนานเครื่องยนต์ตัวแรงบล็อค 4G63 ในสมัยแรกเรียกกันว่าเครื่อง Sirius ที่นักแข่งรุ่นเก่าเรียกๆกันว่าซิลิอุสคอดำคอแดงนั่นเอง ก่อนจะเปลี่ยนผู้รับตำแหน่งแชมป์มาเป็นรถสปอร์ตสองประตู STALION 2000 GSR ขับเคลื่อนล้อหลังตัวสุดท้าย ในเครื่องยนต์รหัส 4G63B Dash 8 วาล์ว เทอร์โบ 175 แรงม้า จนถึงปี 1990 ก็สืบทอดตำแหน่งให้กับ Mitsubishi Galant VR4 ซึ่งถือเป็นยนตกรรมใหม่หมด ตั่งแต่เครื่องยนต์ แบบ DOSH 16 วาล์ว Cyclone เทอร์โบ 205 แรงม้า และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จนถึงรุ่นสุดท้ายของ VR4 ในบล็อก 4G63T ECI ที่ให้พลังถึง 240 แรงม้า จนกระทั่งปี 1992 ทาง Mitsubishi Motor ก็ได้ผลิตรถยนต์ Lancer ขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า Mitsu Ecar และในที่สุดแล้วทาง RALLI ART ก็ได้นำ Ecar มาเข้าสู่สายพานการผลิต Lancer Evolution ด้วยเหตุผลที่เหนือกว่า VR 4 ตรงที่มีขนาดเล็กกว่า แบกน้ำหนักน้อยกว่าถึง 18 % จาก VR4 ที่น้ำหนักถึง 1,350 kg เหลือเพียง 1,170 kg ใน Evo1 ทำให้ Evolution มีความได้เปรียบ Galant VR4 ในเรื่องแรงม้าต่อน้ำหนักอยู่มาก

    การผลิตรถ Evolution เพื่อให้เป็นไปตามกฎของ Homo logate ของสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ FIA ของการแข่งขันรุ่น Group A ที่กำหนดไว้ว่า รถยนต์ที่เข้าร่วมในการแข่งขันต้องเป็นรถที่ผลิตขึ้นเพื่อในการจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 2,500 คัน ดังนั้น Lancer Evolution จึงถูกผลิตขึ้นในจำนวนน้อยเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ต้องการรถยนต์ที่มีสมรรถนะ และความแรงสูงกว่ารถยนต์ Lancer ที่ขายอยู่ในท้องตลาดโดยได้แบ่งรุ่นออกเป็นสองรุ่น คือ GSR ที่ตัวรถจะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมาอย่างเพียบพร้อมเหมาะกับการใช้งานบนท้องถนน และรุ่น RS ที่ผลิตมาให้มีความแข็งแรงสูงกว่า ตัดอุปกรณ์ต่างๆออกไปมีแต่อุปกรณ์ที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อส่งให้กับทีมแข่งต่างๆนำไปตกแต่งเพื่อใช้ในการแข่งขัน